กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4-8 พฤษภาคม 2568 พบว่ามีผู้ป่วย 7,013 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยการแพร่ระบาดของโรคนั้นมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่คนจำนวนมากมารวมกลุ่มกัน ตั้งแต่เทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝน พบว่าผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนกำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอม ซึ่งทำให้มีโอกาสพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
สถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) มีแนวโน้มกลับมาระบาดอีกครั้ง แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 2 ปีย้อนหลัง แต่ทางกรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจมีการระบาดสูงในช่วงฤดูฝน อีกทั้งเป็นช่วงเวลาใกล้เปิดเทอม จึงย้ำให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองในช่วงเวลานี้
แม้ว่าอาการของโควิด-19 ในระยะหลังจะไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว รวมถึงคนส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องสังเกตอาการโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว สำหรับอาการโควิด-19 มีดังนี้
เริ่มมีไข้
รู้สึกเจ็บคอและไอ
คัดจมูก มีน้ำมูกไหล
ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
อ่อนเพลีย คลื่นไส้
สูญเสียการรับรสและกลิ่น
บางรายเบื่ออาหาร และมีอาการท้องเสีย
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจมีการแสดงออกของโรคไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาการและสุขภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อติดเชื้อราว 2-3 วัน แม้ยังไม่แสดงอาการ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ส่วนในช่วงที่มีอาการป่วย 7-10 วัน ก็ยังเป็นช่วงที่แพร่กระจายเชื้อได้ ทางที่ดีแนะนำให้ใช้ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 (ATK) ตรวจจนกว่าจะขึ้น 1 ขีด
ระยะเวลาในการป่วยโควิด-19 ขึ้นอยู่กับอาการและสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย อาการในผู้ป่วยบางรายอาจมีความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้สูงอายุ แต่สำหรับผู้ป่วยที่สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อาจมีอาการหนักในช่วง 3-5 วันแรก จึงแนะนำให้กักตัวก่อนใน 5 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะทุเลาและค่อยๆ หายดีในช่วง 7-10 วัน (บางรายอาจมีอาการลองโควิดหลังจากนั้นอีกหลายสัปดาห์) ปัจจุบันนี้ เมื่อติดโควิด-19 สามารถรักษาให้หายเองได้ที่บ้าน โดยกินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ยาแก้เจ็บคอ เป็นต้น
กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนัก เพียงแต่ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากหากติดโควิด-19 แล้ว แม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงแนะนำให้
สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด
ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยตรง
หมั่นล้างมือให้สะอาด
รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง
ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
#อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวคุณเองและคนที่คุณรัก
Office : 0 2320 5132-5